หลังจากดำเนินโครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้อนาคต โครงการเพื่อสังคมของที่มีเป้าหมายในการพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ให้กับเด็กไทย มาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 ซัมซุงได้แถลงผลการดำเนินโครงการในปีแรกกับสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2557 ที่โรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ
นางสาวศศิธร กู้พัฒนากุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาดองค์กร บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด เปิดเผยว่า โครงการ Samsung Smart Learning Center ซัมซุง สร้างพลังการเรียนรู้สู่อนาคต ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ปัจจุบันมีโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 25 แห่ง และตั้งเป้าที่จะขยายสู่โรงเรียน 40 แห่ง ภายในปี 2558
Samsung Smart Learning Center ห้องเรียนแห่งอนาคตของซัมซุง เป็นห้องเรียนที่ก้าวข้ามข้อจำกัดในการเรียนแบบเดิมที่เด็กเป็นผู้รับ (Passive Learner) ครูเป็นผู้บรรยาย สู่กระบวนทัศน์ในการจัดการศึกษาใหม่ที่เด็กมีส่วนร่วม (Active Learner) และเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง (Self Learner) ที่เด็กจะสามารถใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ สร้างสรรค์ผลงานจากการศึกษาค้นคว้าของตัวเองในสิ่งแวดล้อมที่ส่งเสริมศักยภาพผู้เรียน ผ่านการจัดการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วม (Interactive Learning) และการทำงานเป็นกลุ่ม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้เรียนได้พัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะชีวิตและการทำงาน และทักษะด้านข้อมูลสื่อและเทคโนโลยี
ในการดำเนินการที่ผ่านมาเป็นความพยายามของซัมซุง โดยความสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีของซัมซุงไปสนับสนุนการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 กับผู้เรียน ให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งกำลังสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบเศรษฐกิจ การทำธุรกิจ การใช้ชีวิตในอนาคต และถือเป็นครั้งแรกที่ซัมซุง ได้นำกรอบความคิด การพัฒนาทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ในระดับสากล และนวัตกรรมของซัมซุง มาพัฒนาเป็นต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต เพื่อสร้างโมเดลการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย
“เทคโนโลยีใหม่เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างการเรียนรู้แบบที่มีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางได้ ถ้ายังเรียนด้วยวิธีเรียนและวิธีการสอนแบบเดิม ในการดำเนินโครงการจึงให้ความสำคัญการสร้างต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต โดยมุ่งเน้นการพัฒนาระบบสนับสนุนและการจัดการศึกษารอบด้าน โดยให้เหมาะสมกับโรงเรียนในประเทศไทย และถือเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างต้นแบบการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นฐาน” นางสาวศศิธรกล่าว
โครงการของซัมซุง จึงมีองค์ประกอบตั้งแต่การสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ ให้เกิดการเข้าถึงเทคโนโลยีอย่างเท่าเทียม ด้วยการจัดตั้ง Samsung Smart Learning Center ในโรงเรียน พร้อมให้การสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้แบบ Problem-based Learning (PBL) กับผู้บริหาร ครู และนักเรียน และสื่อสารการค้นพบของนักเรียนผ่านการเล่าเรื่องด้วยสื่อดิจิตอล (Digital Storytelling) และมีวิธีการประเมินผลและติดตามผล ด้วยการวิจัยแบบ Narrative Research ที่ให้เด็กประเมินการค้นพบและการพัฒนาของตนเอง
โครงการในปีแรก ได้ทำให้เกิดโมเดลการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21 ในแบบที่เหมาะสมและพึ่งพาตนเองได้ อาทิ ต้นแบบจากโรงเรียนบ้านหมี่วิทยา จ.ลพบุรี ที่นำไปบูรณาการในวิชาวิทยาศาสตร์, โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น ที่นำกระบวนการและสื่อดิจิตอล ไปพัฒนาต้นแบบการเรียนรู้ในเด็กคละชั้นเรียน ซึ่งเป็นเด็กที่มีการเรียนรู้ช้ากว่าปกติ และโรงเรียนอนุบาลบ้านบางละมุง จ.ชลบุรี นำไปใช้ในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ที่สามารถช่วยให้เด็กที่มีทักษะการอ่านออกเขียนได้ต่ำกลับมาสนใจการเรียนรู้ เป็นต้น
จากการติดตามผลพบว่า คุณครูที่เข้าร่วมโครงการ มีความเข้าใจบทบาทใหม่ในฐานะที่ปรึกษา และมีความเชื่อมั่นในศักยภาพของเด็กมากกว่าที่เคยเป็น จากการดำเนินโครงการในปีที่ 1 มีเด็กที่ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 13,761 คน และคาดว่าในปีที่ 2 จะมีเพิ่มขึ้นอีก 25,877 คน โดยโครงการนี้ตั้งเป้าจะสร้างประโยชน์จากการใช้ห้องเรียนแห่งอนาคตให้เด็กนักเรียนถึง 50,000 คน ภายใน 3 ปี
“ซัมซุง เชื่อมั่นว่าการค้นพบจะนำไปสู่ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการทำโครงการเพื่อสังคมของเราก็สอดคล้องกับความเชื่อนี้ เพราะเราเชื่อว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพซ่อนอยู่ ที่รอการค้นพบและสร้างความเป็นไปได้ จากการทำโครงการในปีที่ผ่านมาก็พิสูจน์ให้เราเห็นว่าเด็กๆ ไม่ว่าอยู่ที่ไหน ในเมืองหรือในพื้นที่ห่างไกล ถ้าเราเปิดโอกาสเขาจะค้นพบศักยภาพของตัวเอง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการพัฒนาทักษะในศตวรรษที่ 21” นางสาวศศิธรกล่าวในที่สุด