นักเรียนในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี นำเสนอสารคดีเกี่ยวกับชุมชน ที่พวกเขาลงมือสร้างสรรค์ด้วยตัวเองตั้งแต่ขั้นตอนแรก สะท้อนบทบาทการเป็น ‘แอคทีฟ แอนด์ เซลฟ์ เลิร์นเนอร์’ ตามรูปแบบการจัดการศึกษาในศตวรรษที่ 21
หลังจากนี้ ขั้นตอนการทอผ้าก็ถูกอธิบายอย่างละเอียด พร้อมสาธิตให้เห็นภาพจนเข้าใจ นี่คือสารคดีเรื่องราวในท้องถิ่น ของของนักเรียนโรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ที่เกิดจากการตั้งคำถาม และค้นคว้าหาคำตอบด้วยตัวเอง ขณะที่กลวิธีการนำเสนอก็ล้วนเป็นผลมาจากความคิดสร้างสรรค์ และการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน
5 เดือนที่ได้เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ที่ทันสมัยจากโครงการ Samsung Smart Learning Center ทั้งคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก แท็บเล็ต กล้องถ่ายรูปดิจิทัล นอกจากพวกเขาจะได้ “การบ้าน” ที่หน้าตาต่างกับรายงานที่เคยทำ งานนี้ยังสร้างความสามัคคีในกลุ่ม รู้จักการเป็นผู้นำ-ผู้ตาม รู้จักการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยที่ครูเป็นเพียงผู้ให้คำปรึกษา
อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้ แม้ไม่ใช่แก่นของการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 แต่ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ผู้เรียน สามารถผลิตชิ้นงาน เข้าถึงองค์ความรู้ ได้ทุกที่ทุกเวลา สร้างความรู้ที่ขยายขอบเขตได้ไม่สิ้นสุด ตลอดจนสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21
ซึ่งประกอบด้วยหัวใจสำคัญ 3 ข้อ คือ ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อ และเทคโนโลยี และ ทักษะชีวิตและการทำงาน การจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ก้าวข้ามจากการเรียนในตำรา หากคือการแสวงหาความรู้ที่จำเป็นในการพัฒนาทักษะชีวิต
ภาษาถิ่น สะท้อนถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของเยาวชนสังขละบุรี นี่คือโอกาสของการเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างกัน เช่นเดียวกับการตั้งคำถาม ถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่นของตัวเอง แล้วลงพื้นที่หาคำตอบ เหล่านี้คือการบูรณาการภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ากับการศึกษา ที่นอกจากทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตนแล้ว ประสบการณ์เหล่านี้ ยังสามารถถ่ายทอดไปยังคนต่างพื้นที่ อันก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อันไม่มีที่สิ้นสุดอีกด้วย