ความต่อเนื่องของโครงการนำมาซึ่งการต่อยอดกระบวนความคิดและการขยายเครือข่าย เพื่อพลังของการเปลี่ยนแปลงในการสร้างงาน สร้างอนาคต สร้างชีวิตที่มั่นคงในพื้นที่ของตัวเอง
การที่ภาคเอกชนใช้จุดแข็งขององค์กรมาช่วยสร้างกระบวนการและเครือข่าย ด้วยนวัตกรรม เครื่องมือ เทคโนโลยี ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ในโรงเรียน จนเกิดเป็นต้นแบบห้องเรียนแห่งอนาคต ที่ช่วยสร้างแรงกระเพื่อมในสังคมให้เกิดการขับเคลื่อนจากวงเล็กๆ สู่วงที่ใหญ่ขึ้นไปเรื่อยๆ
จากจุดเริ่มต้นโครงการ Samsung Smart Learning ในการสร้างห้องเรียนอนาคตในปี 2556 เป็นจุดเริ่มต้นในการเรียนรู้ด้วยตนเองของทั้งผู้เรียนและผู้สอน ครูเปลี่ยน เด็กเปลี่ยน นำไปสู่กระบวนการเรียนรู้จากวงเล็กๆ ในห้องเรียนสู่โรงเรียนและชุมชนรอบข้าง
ปีนี้นับเป็นอีกปีที่ได้ติดตามไปดูงานของ “Samsung Smart Learning ห้องเรียนแห่งอนาคต”ที่ โรงเรียนภูกระดึงวิทยาคม จ.เลย โดยปีก่อนหน้าได้ไปที่ โรงเรียนเทิงวิทยาคม จ.เชียงราย
3 ปี ของโครงการ Samsung Smart Learning ห้องเรียนแห่งอนาคต ที่มุ่งสร้างโรงเรียนต้นแบบ 41 โรงเรียน ที่มีความแตกต่างในกระบวนการเรียนรู้และศักยภาพในแต่ละพื้นที่ การเปลี่ยนครูเป็นผู้ให้คำปรึกษาหรือโค้ชผู้อำนวยความสะดวก ขณะที่เด็กมีส่วนร่วมและเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งการเปลี่ยนครูจากผู้ครองบอลในห้องเรียนในรูปแบบทอล์คแอนด์ชอล์ก อันเป็นวัฒนธรรมที่สั่งสมมาอย่างยาวนาน จู่ๆ จะส่งบอลให้เด็กเป็นผู้ครองบอลแทน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายทั้งในแง่การทำใจและเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กๆ โครงการนี้จึงนับเป็นก้าวสำคัญในการปรับเปลี่ยน“กระบวนการ” ที่ไม่ใช่แค่การศึกษาในห้องเรียน แต่เป็นกระบวนการสร้างคนที่คิดได้ ทำเป็น เป็นการดึงศักยภาพที่ทุกคนมี ลงมือทำ สู่การเปลี่ยนที่เป็นรูปธรรม จับต้องได้จากใบหน้าและแววตาแห่งความสุขของเด็กๆ หรือแม้กระทั่งครูด้วยกันเอง