ห้องเรียนอนาคต อนาคตประเทศไทย กับ Samsung Smart Learning ห้องเรียนทดลอง ห้องเรียนนำร่อง ที่ดำเนินการมากว่า 1 ปี เริ่มเห็นผลลัพธ์ของการ “ปรับ” และ “เปลี่ยน” ทั้งครูและนักเรียนที่เป็นโค้ชให้กันและกัน โดยมีเป้าหมายเดียวกันคือการสร้างกระบวนการเรียนรู้ใหม่ ที่ให้ห้องเรียนเป็นห้องเรียนชีวิตจริงๆ
ท่ามกลางโจทย์ใหญ่ว่าประเทศไทยจะปฏิรูปการศึกษาอย่างไร ได้มีโอกาสตามไปดูการประเมินโครงการ Samsung Smart Learning ที่โรงเรียนเทิงวิทยาคม จังหวัดเชียงราย ได้พบได้เห็นว่าแค่การเปิดห้องเรียนทดลองเพียงหนึ่งห้อง ซึ่งเป็นการ “เปิดพื้นที่เล็กๆ ให้เด็กๆ ” เท่ากับเป็นการให้ “โอกาส” ที่ยิ่งใหญ่ ที่ทำให้เด็กต่างค้นพบตัวตนและศักยภาพของตัวเอง
ยิ่งตอกย้ำว่า การเปลี่ยนแปลง การปฏิรูปการศึกษา บางครั้งไม่ต้องทำให้ยิ่งใหญ่ เทอะทะ แค่ให้ “พื้นที่-โอกาส” โลกของเด็กก็เปลี่ยนและเชื่อว่าเด็กก็จะเปลี่ยนโลกได้ด้วย
การสร้างห้องเรียนอนาคตซึ่งเป็นโครงการนำร่องและทำต่อเนื่องมาเป็นปีที่สองของซัมซุง วันนี้เริ่มเห็นผลที่จับต้องได้ วัดผลได้จากแววตาที่ส่องประกายความสุขของเด็กๆ ในโครงการ เพราะห้องเรียนนำร่องนี้ไม่ใช่แค่ห้องเรียนอนาคต แต่เป็นห้องเรียนชีวิตที่เด็กได้เรียนรู้ โดยเชื่อมโยงห้องเรียนที่เรียนเป็นแท่งๆ และความรู้แยกเป็นกล่องๆ ไม่สามารถปะติดปะต่อกันเองได้ ห้องเรียนอนาคตได้สร้าง “กระบวนการเรียนรู้” เชื่อมโลกในห้องเรียนและนอกห้องเรียนมาผูกเป็นเรื่องเดียวกัน ที่ทำให้เด็กคิดได้ คิดเป็น คิดถูก และทำได้ ทำเป็น ทำถูก ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ติดตัวเขาไปตลอดชีวิต
ผลลัพธ์จากห้องเรียนทดลอง ในวันนั้นเด็กๆผลิตสื่อเพื่อนำเสนองาน “แม่น้ำอิง สายน้ำแห่งชีวิต” ซึ่งเป็นแม่สายหลักที่ผ่านชุมชนของพวกเขา ผ่านวิดีโอ 6 ตอน ที่เล่าวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของชุมชนริมแม่น้ำอิง ที่ทำให้เด็กๆ ค้นพบรากบรรพบุรุษ เห็นความสำคัญของแม่น้ำอิงที่เป็นทุนของชุมชนในการทำเกษตรกรรมเพื่อสร้างรายได้ รู้จักการบริหารจัดการน้ำว่าจะทำอย่างไรให้ทั่วถึงไม่แก่งแย่งกัน มีการศึกษาค้นคว้าคุณภาพน้ำเพื่อหาคำตอบในการดูแลรักษาแม่น้ำอิง การสำรวจสภาพและปัญหาการพังของตลิ่ง การพูดคุยกับผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนถึงสภาพปัญหาและแนวทางแก้ไขป้องกัน ทำอย่างไรที่จะให้มีน้ำในแม่น้ำอิงตลอดไป เพราะเขารู้ว่าแม่น้ำอิงคือสายเลือดของชุมชนซึ่งจำเป็นที่จะต้องดูแลรักษา